add share buttons

ข้อควรปฏิบัติในการถ่ายภาพคนแปลกหน้า

เวลาเราไปเที่ยวต่างที่ต่างถิ่น สิ่งที่ดูแปลกหูแปลกตาก็คงจะทำให้เราอยากถ่ายภาพไปซะหมด รวมถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นด้วย แต่ละพื้นที่ก็มาจากชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน รวมถึงการแต่งตัวที่แตกต่างกันด้วย นั่นคงทำให้เราอยากจะยกกล้องขึ้นมาถ่ายเก็บไว้เป็นที่ระลึกซักภาพ แต่ก่อนที่เราจะยกกล้องขึ้นมาถ่ายใคร ขอให้นึกถึง 5 ข้อนี้ก่อนก็แล้วกันนะครับ

  1. ขออนุญาติก่อนทุกครั้ง การที่เรายกกล้องขึ้นมาถ่ายใครที่เราไม่รู้จัก โดยไม่ได้รับอนุญาติ เป็นการเสียมารยาทมากๆ และคุณอาจไม่ได้รับความร่วมมือจากตัวแบบด้วย ลองขออนุญาติเขาสักนิด คุณน่าจะได้รับความร่วมมือมากกว่าการที่จู่ๆก็เดินเข้าไป แล้วก็เอากล้องเข้าไปจ่อเขาเลย จากประสบการณ์ที่ผ่านมา 90% ตัวแบบจะอนุญาติให้ถ่าย อีก 10% ที่เหลือก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้การอกหักก็แล้วกันนะครับ

    ภาพนี้ถ่ายที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เป็นภาพที่ชอบมากๆจนถึงทุกวันนี้ ภาพนี้ถ่ายตอนไปเดินที่ตลาด เห็นหน้าพ่อค้าดูมีเอกลักษณ์ดี เลยเดินเข้าไปขอถ่าย ตัวแบบก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ให้ความร่วมมือดีครับ

  2. ใช้เวลาให้น้อยที่สุด เมื่อตัวแบบอนุญาติแล้ว ก็อย่ารบกวนเวลาเขาให้มากนัก นอกเสียจากเขาเป็นแบบที่เราจ้างมา เพราะเรากำลังกินเวลาของเขาอยู่ ผมจะเล่าประสบการ์ตรงให้ฟัง มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนผมเพิ่งหัดถ่ายภาพใหม่ๆ ผมไปเที่ยวเชียงใหม่ แล้วเห็นคุณยายชาวเขากำลังนั่งขายเครื่องเงินอยู่ ใบหน้าคุณยายดูมีเอกลักษณ์ ผมรู้สึกอยากถ่ายภาพคุณยายมากๆ อย่ากระนั้นเลย ทำทีเข้าไปซื้อเครื่องเงินกับคุณยายแล้วขอถ่ายซะเลย คุณยายก็ให้ถ่ายแต่โดยดี แต่ด้วยความที่ผมเป็นมือใหม่ ถ่ายเท่าไหร่ก็ไม่ได้อย่างที่ใจต้องการซักที ก็ถ่ายไปหลายช็อตจนคุณยายด่าเป็นภาษาชาวเขา ทำให้วันนั้นผมรู้สึกแย่ไปทั้งวันเลย จากนั้นมาผมมักจะใช้เวลาไม่นานในการถ่ายภาพคนแปลกหน้า เพื่อไม่ให้เขารู้สึกถูกคุกคามมากจนเกินไป

    ภาพคุณยายชาวเขา ที่ขายเครื่องเงินอยู่เชิงดอย ก่อนขึ้นดอยสุเทพ สังเกตุดูหน้าคุณยาย ดูไม่มีความสุขเท่าไหร่ ในใจคงคิด “เมื่อไหร่จะถ่ายเสร็จซักทีไอ้หนุ่ม!!”

  3. ปฏิบัติกับตัวแบบอย่างมีมนุษยธรรม ถึงแม้เราจะได้รับการอนุญาติจากตัวแบบให้ถ่ายภาพของเขาได้แล้ว ก็ควรปฏิบัติกับเค้าอย่างมีมนุษยธรรม เพราะจริงๆแล้วเค้าก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งของที่คุณจะทำยังไงกับเขาก็ได้ การทำให้เค้าอยู่ในสภาพที่เกิดความอับอาย หรือดูแย่ คงไม่ใช่สิ่งที่มุษย์ทำกัน ถ้านึกไม่ออกว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ ก็ลองนึกถึงใจเขาใจเรา ว่าถ้ามีคนมาทำอย่างนี้กับเรา หรือญาติของเรา เราชอบมั้ย ถ้าไม่ชอบก็อย่าทำเลย อย่าอ้างว่าเป็นงานศิลปะ เพราะมันทุเรศ

    ภาพคุณยายชาวกะยาน หรือที่เราเรียกว่ากระเหรี่ยงคอยาว ที่บ้านห้วยปูแกง จังหวัดแม่ฮ่องสอน กว่าที่ผมจะตัดสินใจขอถ่ายภาพคุณยายได้ ผมนั่งคุยกับคุณยายพักใหญ่เลย เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับตัวแบบ ยิ่งตัวแบบมีความแตกต่างกับเรามากเท่าไหร่ เรายิ่งต้องให้เกียรติ และระมัดระวังให้มากเท่านั้น ก่อนที่เราจะเอากล้องไปจ่อใคร ควรนึกถึงความรู้สึกของเค้าด้วย

  4. ขอบคุณทุกครั้ง ข้อนี้คงไม่ต้องอธิบายมากมาย การขอบคุณ เป็นมารยาทพื้นฐานที่ทุกคนควรจะมีด้วยซ้ำ หลังจากถ่ายภาพเค้าแล้วก็อย่าลืมขอบคุณเค้าด้วย เค้าจะได้มีประสบการณ์ดีๆกับช่างภาพ

    ภาพนี้ถ่ายที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นภาพที่ชอบมากๆเช่นกัน เพราะรอยยิ้มที่มีความสุขของสโนไวด์น้อย ภาพนี้ขออนุญาติคุณแม่ที่นั่งข้างๆแล้ว ทีแรกว่าจะถ่ายไม่เยอะ แต่ดูเหมือนน้องจะชอบให้ถ่ายรูปมากๆ หันมาให้ถ่ายตลอดเลย จนคุณแม่ของน้อง บอกน้องว่าพอได้แล้ว เพราะกลัวว่าจะรบกวนผม

  5. เอาภาพให้ตัวแบบดูทุกครั้ง หลังจากถ่ายภาพเสร็จแล้ว อย่าลืมเอาภาพให้ตัวแบบดูด้วย เค้าจะได้รู้ว่าเราถ่ายภาพเค้ายังไง ดูดีหรือเปล่า ถ้าเป็นไปได้ให้ print ภาพถ่ายให้เค้าด้วย เพื่อเป็นการตอบแทนที่เค้ายอมให้เราถ่ายภาพ

    ภาพนี้ถ่ายที่ชุมชนป้อมมหากาฬ คุณน้าคนนี้เป็นผู้นำชุมชนที่นั่น ผมขอที่อยู่น้ามาว่าจะส่งรูปถ่ายไปให้ แต่ชุมชนดันถูกรื้อไปซะก่อน ผมเลยไม่รู้จะส่งรูปไปให้ยังไง

*บทความนี้ไม่ได้รวมถึงการถ่ายภาพ street นะครับ เพราะการถ่ายภาพ street จะให้เราเข้าไปคุยกับตัวแบบก็คงไม่ได้

Just love travel and photograph.

Posted in การถ่ายภาพ Tagged with: , , ,

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

*

Facebook Fan Page